ติดต่อเรา
โทรสายด่วน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย (เชียงราย – พะเยา)

Tourism Authority of Thailand : Chiang Rai Office (Chiang Rai – Phayao)

www.tourismchiangrai-phayao.com

จุดที่ 1 อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ซึ่งนับว่าเป็นวาระอันมงคลยิ่ง พสกนิกรชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่าและเผ่าพันธุ์ได้รวมใจกันเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันหาที่สุดมิได้ ต่อพสกนิกรชาวเชียงรายและชาวไทย จึงพร้อมใจกันจัดสร้างตุงทองคำเพื่อน้อมเกล้าน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ตุง และตุงหลวงจำนวน 1 ตุง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสจังหวัดเชียงรายสถาปนาได้ 737 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการเฉลิมพระเกียรติของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของนายวิจารณ์ ไชยนันทน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในสมัยนั้น ได้รับความร่วมมือร่วมใจ จากประชาชนชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า เผ่าพันธุ์ เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งตุงผืนที่ 1 ออกแบบโดย นายถวัลย์ ดัชนี ผืนที่ 2 ออกแบบโดย นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตุงหลวง ออกแบบโดย นายกนก วิศวกุล ผู้ออกแบบได้ศึกษาและผสานความคิดสอดคล้องกันกับชาวเชียงรายผนวกกับความจงรักภักดี จังมีความหมายและเกิดรูปแบบดังต่อไปนี้

 

          ตุงผืนที่ 1

ออกแบบโดย นายถวัลย์ ดัชนี  รูปแบบตุง มีลักษณะเป็น จลนะภาพ คือการแสดงออกถึงพลังแห่งการเคลื่อนไหว อิสระเบ่งบานในการรังสรรค์ที่มิได้ยึดรูปแบบดั้งเดิม หากแต่ยังไว้ซึ่งศักยภาพในด้านเนื้อหา ปรัชญาศรัทธา และสัญลักษณ์อันเปี่ยมด้วยความหมายของกษัตริย์แห่งจักรีวงศ์ โดยใช้รูปแบบของนารายณ์ทรงครุฑ อันเป็นพระราชลัญจกรของรามาวตาร พระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระราม รูปพระนารายณ์สี่กรทรงตรี คธา จักร และสังข์ ประทับยืนบนครุฑ ช้างเอราวัณสามเศียร หมายถึง สวรรค์ชั้นดุสิต ที่สถิตของพระอินทร์ และพระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ อยู่บนฐานปัทม์ ดอกบัวเสี้ยงเดือนรูปปิ่นพระศิวะ และกระต่ายแทนปีพระราชสมภพ และเป็นสัญลักษณ์ของ ศศิธรประภามณฑลของพระอิศวร ตามปกิรนัมตรีมูรติ จิตรกรแทนหกรอบพระชันษา โดยใช้ชื่อสัตว์หิมพานต์ทั้งหก อันมีช้างเอราวัณ ครุฑ นาค นรสิงห์ คชสีห์ และกระต่าย นับได้ว่าเป็นงานรังสฤษฎ์ที่สมบูรณ์ด้วยรูปแบบ เปี่ยมด้วยความหมาย ทรงพลังและเข้มขลังด้วยศรัทธาความรัก

 

          ตุงผืนที่ 2

ออกแบบโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์  เป็นตุงแห่งความจงรักภักดีของชาวเชียงรายและปวงประชาไทย น้อมเกล้าถวายบูชาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แสดงออกด้วยรูปแบบที่บ่งบอกถึง”จากแผ่นดิน – สู่แผ่นฟ้า”ดิน หมายถึง รูปทรงล่างสุดของตุง ที่มีสัญลักษณ์รูปช่างอันเป็นตราประจำจังหวัดเชียงรายโอบอุ้มขึ้นไปสู่รูปทรงที่ปรากฏเป็นภาพประชาชนชาวเชียงรายถวายเครื่องสูง เพื่อน้อมถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในบรรยากาศของขุนเขาดอยนางนอน และองค์พระธาตุดอยตุง เหนือจากดอยตุงเป็นภาพพญาครุฑ อันเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์ หลังของพญาครุฑเป็นรัศมีที่โอบอุ้มมี 10 องค์ หมายถึง การปกครองด้วยทศพิธราชธรรม เหนือพญาครุฑเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ มีเปลวกนกที่หมายถึงพระเมตตา รองรับพญานาค ซึ่งหมายถึงพระบารมีที่ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชน ดอกบัว และแสดงถึงทรงเป็นนักปฎิบัติธรรมแตกฉานในพระธรรมอย่างลึกซึ้ง บนสุดเป็นตราสัญลักษณ์ 6 รอบ ล้อมด้วยเปลวกนกที่โพยพุ่งไปสู่ความสว่าง คือ พระนิพพาน

 

          ตุงผืนที่ 3 
ออกแบบโดย นายกนก วิศวะกุล ภาพโดยรวมของตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ แสดงออกถึงพลังแห่งความสงบนิ่งและมั่นคงพลังแห่งความจงรักภักดี พลังแห่งความเคารพศรัทธายิ่ง ของเหล่าพสกนิกรชาวไทย ที่น้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องจากตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ จะได้จัดสร้างไว้ที่จังหวัดเชียงรายในโอกาสข้างหน้า เพื่อร่วมฉลองเมืองเชียงรายที่สถาปนามาได้ 737 ปี ดังนั้น รูปแบบด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม จึงต้องคำนึงถึงหลักภูมิทัศน์ที่มีความสอดคล้องกลมกลืนอย่างสงบ มั่นคงและสง่างาม


 

จุดที่ 2 บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย

บ้านสิงหไคล เป็นอาคารโบราณอายุประมาณ 105 ปี  (สร้างราวปี ค.ศ 1914) สร้างขึ้นเมื่อนายแพทย์บริกส์ หรือหมอบริกส์ ได้เข้ามาปฏิบัติงานเป็นมิชชันนารี ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งหมอบริกส์มีความสามารถหลายอย่าง ไม่เพียงแต่เป็นหมอรักษาโรค ยังเป็นหมอทำฟัน ช่างก่อสร้าง นักการเมือง นักศึกษา และนักดนตรี และยังเป็นนักเทศน์

ระหว่างที่หมอบริกส์ได้เข้ามาปฏิบัติงานในจังหวัดเชียงรายนั้น เป็นสมัยที่ตัวเมืองกำลังเริ่มก่อสร้าง ตกแต่งดัดแปลงแก้ไขพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวเชียงรายให้ดีขึ้น โดยพระยาอุตรกิจ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และมีเจ้าหลวงเมืองเชียงราย คือ เจ้าหลาวงเมืองใจ หรือ พญารัตนเขตร่วมด้วย นอกจากการระดมสร้างโรงพยาบาลแล้ว หมอบริกส์ยังได้สร้างโรงเรียน รวมไปถึง บ้านพักมิชชันนารี OMF  และที่ทำการภาคที่ 2 (อยู่ด้านหลังบ้านสิงหไคล) โบสถ์คริสตจักรที่ 1 ประตูสลี

ปัจจุบันภายในบ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย ได้รับการบูรณะ ปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำการมูลนิธิมดชนะภัย โดยบริเวณชั้น 2 เปิดเป็นแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะ และบริเวณชั้นล่างเป็นร้านกาแฟบ้านมด Baanmod CAFE และ ดาษดาสตูดิโอ 2

ในช่วงกลางคืนจะประดับไฟที่ถ่ายทอดความงดงามของบ้านด้วยแสง ใช้เทคนิคแสง Tiny Light Bulbs Par Light ใช้แสงอาบฉาบผิวบ้านด้านนอก และใช้แสงส่องออกมาจากภายในตัวบ้าน ผ่านช่องหน้าต่าง เพื่ออวดสัดส่วนการออกแบบบ้านอันสวยงาม และตกแต่งรอบบ้านด้วยไฟเม็ดถั่ว


 

จุดที่ 3 พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ รัชกาลที่ 5
(ศาลากลางจังหวัดหลังแรก)

บ้านสิงหไคล เป็นอาคารโบราณอายุประมาณ 105 ปี  (สร้างราวปี ค.ศ 1914) สร้างขึ้นเมื่อนายแพทย์บริกส์ หรือหมอบริกส์ ได้เข้ามาปฏิบัติงานเป็นมิชชันนารี ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งหมอบริกส์มีความสามารถหลายอย่าง ไม่เพียงแต่เป็นหมอรักษาโรค ยังเป็นหมอทำฟัน ช่างก่อสร้าง นักการเมือง นักศึกษา และนักดนตรี และยังเป็นนักเทศน์

ระหว่างที่หมอบริกส์ได้เข้ามาปฏิบัติงานในจังหวัดเชียงรายนั้น เป็นสมัยที่ตัวเมืองกำลังเริ่มก่อสร้าง ตกแต่งดัดแปลงแก้ไขพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวเชียงรายให้ดีขึ้น โดยพระยาอุตรกิจ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และมีเจ้าหลวงเมืองเชียงราย คือ เจ้าหลาวงเมืองใจ หรือ พญารัตนเขตร่วมด้วย นอกจากการระดมสร้างโรงพยาบาลแล้ว หมอบริกส์ยังได้สร้างโรงเรียน รวมไปถึง บ้านพักมิชชันนารี OMF  และที่ทำการภาคที่ 2 (อยู่ด้านหลังบ้านสิงหไคล) โบสถ์คริสตจักรที่ 1 ประตูสลี

ปัจจุบันภายในบ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย ได้รับการบูรณะ ปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำการมูลนิธิมดชนะภัย โดยบริเวณชั้น 2 เปิดเป็นแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะ และบริเวณชั้นล่างเป็นร้านกาแฟบ้านมด Baanmod CAFE และ ดาษดาสตูดิโอ 2

ในช่วงกลางคืนจะประดับไฟที่ถ่ายทอดความงดงามของบ้านด้วยแสง ใช้เทคนิคแสง Tiny Light Bulbs Par Light ใช้แสงอาบฉาบผิวบ้านด้านนอก และใช้แสงส่องออกมาจากภายในตัวบ้าน ผ่านช่องหน้าต่าง เพื่ออวดสัดส่วนการออกแบบบ้านอันสวยงาม และตกแต่งรอบบ้านด้วยไฟเม็ดถั่ว


 

จุดที่ 4 วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง เชียงราย

วัดพระสิงห์ พระอารามหลวงชั้นตรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ราวปี พ.ศ.1982 เคยเป็นที่ประดิษฐ์ฐานพระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันว่า “พระสิงห์” ปัจจุบันเป็นองค์จำลอง (องค์จริงประดิษฐ์ฐานอยู่ ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่)

ความสำคัญและความเป็นมา

พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนานมีหลักฐานปรากฏในสิหิงคนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 700 ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1150 ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ.1850   ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย                  70  ปี

พ.ศ.1920   ประดิษฐานที่พิษณุโลก                      5  ปี

พ.ศ.1925    ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา                5  ปี

พ.ศ.1930    ประดิษฐานที่กำแพงเพชร                 1  ปี

พ.ศ.1931    ประดิษฐานที่เชียงราย                    20  ปี

พ.ศ.1950    ประดิษฐานที่เชียงใหม่                   255  ปี

พ.ศ.2250   ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา               105  ปี

พ.ศ.2310    ประดิษฐานที่เชียงใหม่                      28  ปี

พ.ศ.2338   ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ   –  ปัจจุบัน

พระประธานในพระอุโบสถวัดพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง เนื้อสำริดปิดทอง ปางมารวิชัย สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ มีหน้าตักกว้าง 204 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 284 เซนติเมตร ที่ฐานมีอักษรล้านนาจารึกว่า “กุสลา ธมฺมา  อกุสลา  ธมฺมา  อพยากตา  ธมฺมา” หมายถึง ธรรมที่เป็นกุศลก็มี ธรรมที่เป็นอกุศลก็มี  ธรรมที่เป็นทั้งกุศลและอกุศลก็มี

พระอุโบสถ

พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นเมื่อราวจุลศักราช 1251 – 1252 (พ.ศ.2432 – 2433)

พระเจดีย์

พระเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถ มีการบูรณะใหม่ในปี 2492 และบูรณะอีกครั้งหนึ่งในปี 2533 แต่เดิมทาสีขาว ปัจจุบันทาสีทองเด่นเป็นสง่า ประดิษฐานอยู่ทิศตะวันตกชิดด้านหลังพระอุโบสถ

บานประตูหลวง

บานประตูหลวง ทำด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างประณีตวิจิตรบรรจง เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดยศิลปินเอกผู้มีผลงานเป็นที่กล่าวขานในระดับโลกนามว่า “อ.ถวัลย์ ดัชนี” เป็นเรื่องราวของธาตุทั้ง 4 คือ  ดิน น้ำ ลม ไฟ อันหมายถึง ธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในร่างกาย คนเราทุกคน
โดย ถ่ายทอดธาตุทั้ง 4 ออกเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ 4 ชนิด เพื่อการสื่อความหมาย

ช้าง = ดิน คือ เนื้อ หนัง กระดูก

นาค = น้ำ คือ ของเหลวต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต ปัสสาวะ

ครุฑ = ลม คือ อากาศที่เราหายใจเข้าออก ลมปราณที่ก่อเกื้อให้ชีวิตเป็นไป

สิงห์โต = ไฟ คือ ความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารเกิด พลังงาน

พระพุทธบาทจำลอง

พระพุทธบาทจำลองจำหลักบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณ ว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา” ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า   น่าจะมีมาแต่สมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช  ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทย

หอระฆัง

เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบล้านนาไทยประยุกต์ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ซึ่งหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน ขนาดความสูง 25 นิ้ว ยาว 39 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ขุดพบบริเวณวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ.2438  ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นหอกลอง

ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนา คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้เมื่อวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ  พลโทอัมพร  จิตกานนท์  นำมาจากพุทธคยาประเทศอินเดีย โดยความอนุเคราะห์จากท่านเอกอัครราชทูตอินเดียและอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ

ต้นสาละลังกา

ต้นสาละลังกาเป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับสำเร็จสีหไสยาสน์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน


 

จุดที่ 5 โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค

         โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค เป็นชื่อของคริสตจักรโอเวอร์บรุ๊คในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย มิสเตอร์เกสท์ (Mr.Guest) ได้บริจาคเงิน ในนามของคริสตจักรที่สังกัดอยู่ โรงพยาบาลนี้จึงได้เริ่มก่อตั้งขึ้น และในการปฏิบัติงานก่อสร้างในความอำนวยการของนายแพทย์วิลเลียม เอ บริกส์ (Dr. William A. Briggs) ในปี พ.ศ. 2451 – 2453    (คศ.1908-1910)  การก่อสร้างโรงพยาบาล หมอบริกส์ ได้เลือกทำเลที่เหมาะสมตามความคิดของท่าน คือ ฝั่งแม่น้ำกก มีกระแสน้ำเย็นไหล มีเทือกเขาอยู่ริมฟากฝั่งแม่น้ำ หมอบริกส์เป็นทั้งนายช่างสถาปนิกและอำนวยการสร้างด้วยตนเอง

          ในการก่อสร้างโรงพยาบาล สร้างด้วยอิฐเรียงกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป โบกปูนทับ อิฐทุกแผ่น ทุกแถวที่ก่อขึ้น    วางได้ระดับปรอทน้ำเสมอกันหมด และยังได้ขัดเกลาอิฐแต่ละก้อนให้เกลี้ยงเกลาเป็นมัน ตามแบบก่อสร้างที่มีศิลปะละเอียดอ่อนอีกด้วย บนหลังคามีการสร้างหอระฆัง ใช้เป็นสัญญาณบอกเวลา และมีการตีระฆังเมื่อเวลา 07.30น.  08.00 น. 12.00 น.  13.00 น. และ 17.00 น. ในทุกๆ วัน ยกเว้นวันอาทิตย์

          ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  จอมพล ป พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำสัญญาร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและบริเทนใหญ่ ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2483 สถานทูตอเมริกาและสถานทูตอังกฤาได้ออกประกาศให้ชนชาติของตน ออกไปจากประเทศไทยโดยด่วน พวกมิชชันนารีและชาวต่างประเทศ จึงต้องอพยพออกไปเนื่องจากเกรงว่าจะถูกทหารญี่ปุ่นจับไปเป็นเชลย

          หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2485 ทางการได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางจังหวัดเชียงรายเข้ามายึดครองสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์ บ้านพักแพทย์ และบ้านพักมิชชันนารีทุกค่า โดยได้ปิดประตูประทับตราไว้            ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลทรัพย์สิน เนื่องจากเวลานั้นสภาคริสตจักรในประเทศไทย ยังไม่ได้รับเป็นมูลนิธิ เป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย จึงถือว่าสถานที่เหล่านั้นเป็นของคนต่างด้าว

          ส่วนโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งให้นายแพทย์อุทัย สนธินันท์ อนามัยจังหวัด กับนายอุดม ผู้ช่วย เข้ามาจัดการทำบัญชีสำรวจข้าวของ ยา ต่าง ๆ ไว้เป็นของหลวง ส่วนคนไข้ ก็ให้ออกไปรักษาตัวที่อื่นต่อไป  ในเดือนเดียวกัน ทหารกองพลที่ 4 โดยมีหลวงหาญสงคราม เป็นผู้บัญชาการ ได้นำกองทหารขึ้นมาเชียงรายได้มีคำสั่งให้เปิดโรงพยาบาลแห่งนี้ใช้ในราชการทหาร เรียกชื่อว่า “เสนารักษ์กองพลที่ 4 หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ส.ร. กองพล 4

           วันที่ 20 มกราคม 2485 เมืองเชียงตุงได้ถูกญี่ปุ่นไปทิ้งระเบิก เมื่อเมืองนี้แตก กองทัพไทยได้เคลื่อนพบไปประจำอยู่ที่เมืองเชียงตุง กองพลที่ 4 ก็เคลื่อนไปตั้งอยู่ที่นั่นด้วย แม่ทัพพายัพ พร้อมกองทัพก็ขึ้นมาประจำอยู่ที่จังหวัดเชียงรายแทนกองพล 4 และได้มีคำสั่งให้ใช้โรงพยาบาลเป็นที่พักฟื้นคนไข้ เรียกว่า โรงพยาบาลสนาม 1 เรียกย่อ ๆ ว่า รพน 1 ใช้รักษาคนไข้ที่เป็นเฉพาะทหารเท่านั้น เมื่อสงครามโลกได้สงบลงในปี พ.ศ. 2489 ทางราชการจึงได้จัดการคืนสถานที่ให้แก่มิชชันนารี


 

จุดที่ 6 วัดพระแก้ว พระอารามหลวง เชียงราย

วัดพระแก้ว เดิมชื่อวัดป่าญะ หรือป่าเยียะ (ป่าไผ่ชนิดหนึ่งไว้ทำคันธนู) ต่อมาในปี พ.ศ.1977 ได้พบพระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก ณ พระเจดีย์หลังพระอุโบสถ วัดนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า “วัดพระแก้ว” ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อ วันที่ 30 พฤษภาคม  2521พ.ศ.2521  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

วัดพระแก้วสร้างขึ้นแต่สมัยใด ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด เมื่อพระแก้วมรกตถูกนำไปจากเชียงราย และได้ไปประดิษฐานยังที่ต่าง ๆ หลายแห่งนั้น เรื่องราวของวัดได้เงียบหายไปอีก อาจเป็นเพราะเป็นวัดเล็กๆ มีสิ่งสำคัญภายในวัดคือ วิหารและเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถเพิ่งสร้างขึ้นภายหลัง

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดพระแก้วเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ในช่วงปี พ.ศ. 2493 –พ.ศ. 2529 พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์ ปรับปรุงเพิ่มเติมเสนาสนะต่างๆ จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างจากกรมศาสนา ในปี พ.ศ. 2510 และวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ในปี พ.ศ. 2514 และต่อมาในสมัยพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัดต่อจากเจ้าอาวาสรูปก่อน จนถึงปัจจุบัน

หอพระหยก

หอพระหยก อาคารทรงล้านนาโบราณ เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” หรือ “พระหยกเชียงราย” บนผนังอาคาร แสดงกิจกรรม จากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ 19 ตุลาคม 2534

พระเจดีย์

พระเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. 1977 ได้เกิดฟ้าผ่า ลงองค์พระเจดีย์พังทลายลง และได้พบพระแก้วมรกตซ่อนไว้ในพระเจดีย์หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองต่างๆ คือ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์ เป็น โบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ.2478

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ พระวิหารทรงเชียงแสน มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2433 ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2495 พระประทานในอุโบาถ (พระเจ้าล้านทอง) เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิปปาละที่ใหญ่ และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

พระเจ้าล้านทอง (พระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว เชียงราย)

พระประธานที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากทับเกษตรถึงยอดพระรัศมี 2.80 เมตร รอบพระเศียร 1.60 เมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีเป็นลักษณะมีดอกบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือราวพระถัน เม็ดพระศกใหญ่ พระหนุสองชั้นเป็นปมใหญ่และชัดมาก เดิมเป็นของวัดพระเจ้าล้านทอง แต่ได้มีสภาพเป็นวัดร้าง จึงได้รื้อไป ปัจจุบันคือบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และโรงเรียนอนุบาลเชียงราย

โฮงหลวงแสงแก้ว

อาคารทรงล้านนาประยุกต์ เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 โดยมีคุณอมรา (แสงแก้ว) มุนิกานนท์ เป็นผู้อุปถัมภ์ ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย อาทิ พระพุทธศรีเชียงราย พระเจ้าทันใจ พระอู่ทอง พระเชียงแสน พระสุโขทัย พระบัวเข็ม เป็นต้น


 

จุดที่ 7 เทศบาลนครเมืองเชียงราย

เทศบาลนครเชียงราย เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ของจังหวัดเชียงราย ได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2478 มีพื้นที่ 10.2 ตารางกิโลเมตรและเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 ที่ผ่านมาได้รับการขยายเขตอีกครั้ง ทำให้เขตเทศบาลขยายเพิ่มจากเดิมอีก 6 เท่า เป็นมีพื้นที่ทั้งสิ้น 60.85 ตารางกิโลเมตร ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศเปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลเมืองเชียงรายเป็นเทศบาลนครเชียงราย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 โดยมีแนวเขตและแผนที่ตามเดิม จัดเป็นเทศบาลนคร อันดับที่สามของภาคเหนือ ถัดจากเทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลนครลำปาง

เทศบาล มีท่าน สมบุญ ชัยศิลปิน ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี เป็นท่านแรก เมื่อ พ.ศ. 2479 ต่อมามีผู้ดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรี จำนวน 19 ท่าน  นายกเทศมนตรีนครเชียงราย คือ ดร.วันชัย จงสุทธานามณี  ปัจจุบันประกอบด้วย 65 ชุมชน มีประชากรในเขตประมาณ 70,000 คน  เป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกๆ ด้านของจังหวัดเชียงราย อาคารสำนักงาน(สำนักงานใหญ่)  สำหรับตัวอาคารเก่า มีอายุมากกว่า 80 ปี และมีการปรับปรุงอาคารหลายรอบ ล่าสุดได้ปรับปรุงตัวอาคารเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีประจำเทศบาลนครเชียงราย ประกอบด้วย อาคาร 1 อาคาร 2 อาคาร 3 ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปฏิบัติงานของ สำนักปลัดเทศบาล  กองคลัง กองช่าง กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ และสำนักทะเบียนท้องถิ่น ในการบริการแจ้งเกิด แจ้งตาย ย้ายที่อยู่ ให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป 

นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานที่ปฎิบัติงานอยู่นอก ประกอบ กองการแพทย์ มีศูนย์บริการสาธารณสุข 4 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์น้ำลัด ศูนย์สันหนอง ศูนย์สันตาลเหลือง และศูนย์หัวฝาย มีกองสวัสดิการสังคม ที่ดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ประชาชน สำนักการศึกษา ซึ่งดูแลโรงเรียนในสังกัด จำนวน 8 แห่ง  รวมถึงอาคารที่เป็นที่ตั้งของสถานีดับเพลิง มี 3 สถานี คือ สถานีที่ 1 ถนนพหลโยธิน  สถานีที่ 2 ถนนสายเชียงราย – เวียงชัย  และ สถานีที่ 3 ถนนอุตรกิจ และสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงรายแห่งที่ 1 (ท่ารถเก่า) ตั้งอยู่ถนนประสพสุข รวมถึงสถานธนานุบาลเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ในตลาดสดเทศบาล (กาดหลวง) ถนนอุตรกิจ

          ตราประจำเทศบาลนครเชียงราย  เป็นพญามังรายมหาราช ทรงประทับบนแท่นที่ประทับพระหัตถ์ทั้งสองประครองดาบไว้บนพระเพลาทั้งข้างซ้ายและขวา ซึ่งหมายถึง เป็นผู้ก่อตั้งเมืองเชียงราย และรวบรวมชาวไทให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อระงับความทุกข์เข็ญต่าง ๆ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นในแคว้นล้านนา ส่วนด้านข้างทั้งสองและด้านล่างประดับด้วยลายไทยที่มีความอ่อนช้อยสวยงาม เป็นการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเชียงราย


 

จุดที่ 8 จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หลังเก่า

ที่ตั้ง ถนนธนาลัย ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย อยู่ในการครอบครองของจังหวัดเชียงราย สร้างในปี พ.ศ. 2478 สมัยพระราชราชเดชดำรง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และยังคงใช้เป็นบ้านพักมาจนถึงทุกวันนี้ อาคารเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวขนาดใหญ่ ยกพื้นใต้ถุนสูง มีระเบียงและบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  หลังคาเป็นทรงปั้นหยา พื้นที่ใช้สอยภายในอาคารแบ่งออกเป็นสัดส่วนชัดเจน ผนังภายนอกเป็นผนังไม้ตีซ้อนเกล็ดเป็นแนวนอน ฝ้าเพดานภายในเป็นไม้ ปัจจุบัน อาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรม และมีการต่อเติมดัดแปลงทั้งภายในและภายนอก เช่น หลังคา บันไดขึ้นสู่ตัวบ้าน และการก่ออัฐกั้นใต้ถุนอาคาร เป็นต้น จนทำให้คุณค่าทางสถาปัตยกรรมด้อยลง เคยได้รับรางวัลในด้านการอนุรักษ์จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในปี พ.ศ. 2553


 

จุดที่ 9 ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงราย (หลังเก่า)

พื้นที่บริเวณอำเภอเมืองเชียงรายปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีประวัติความเป็นมาเช่นเดียวกับจังหวัดเชียงราย เนื่องจำกพื้นที่บริเวณจังหวัดเชียงรายในอดีตถูกเรียกว่า เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประวัติความเป็นมำยาวนานย้อนไปในสมัยกษัตริย์ในราชวงค์ละวะจักรราช (หรือบางตำนำนเรียกลาวจักราช) พระนามว่า ลาวเคียง (ซึ่งในตำนำนมีหลายพระนาม) ได้สืบสันติวงศ์มาจากปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง ปกครองแคว้นหิรัญนครเงินยางเรื่อยมำ จนมีเชื้อพระวงศ์เกิดขึ้นพระนามว่า ลาวเมง หรือ ลาวเมือง เมื่อเจ้าลาวเมงเจริญ พระชนมพรรษามากขึ้นได้อภิเษกสมรสกับ พระนางอั้งมิ่ง หรือ พระนาง เทพคำข่าย จนประสูติโอรสในปี พ.ศ. 1781 พระนามว่า “เจ้าม็งราย” หรือ “เจ้ามังราย”

ใน พ.ศ.1804 เจ้ำเม็งรายได้ครองราชย์ต่อจำกเจ้าลาวเมือง พระบิดา ปกครองแคว้นหิรัญนครเงินยาง โดยมีศูนย์กลางเมือง (เมืองหลวง) อยู่ที่เมืองเงินยาง พ.ศ. 1805 เจ้าเม็งรายได้ดำริที่จะรวบรวมเมืองใหญ่น้อยต่ำง ๆ ในแคว้นล้านนา (ภาคเหนือตอนบน) ที่แตกความสำมัคคีกัน จึงได้ยกทัพออกไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีและปราบปรามเมืองต่าง ๆ ทั้งด้านเหนือและใต้ ให้มาอยู่ใน พระราชอำนาจจนสำเร็จ ในช่วงที่ยกทัพไปปรำบ หัวเมืองฝ่ายใต้ ได้เดินทำงไปถึงดอยจอมทองริมแม่น้ำกก ทรงเห็นภูมิประเทศบริเวณนั้นเป็นชัยภูมิที่ดี เหมาะแก่กำรป้องกันการรุกรานจากทัพเม็งโกลที่กำลังแผ่อาณาเขตเข้ายึดครองยูนานพม่า และตังเกี๋ย ได้ จึงทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นเป็นศูนย์กลางของแคว้นหิรัญนครเงินยางแทนเมืองเงินยาง ตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “เชียงราย” ทรงปกครองเมืองเชียงรายนานถึง 10 ปี ในระหว่างที่ปกครองเมืองเชียงรายนั้น เจ้าเม็งราย ก็ขยายอำนาจและอาณาเขตออกไปเรื่อย ๆ จนเห็นว่าไม่สามารถแผ่อานาจและอาณาเขตออกไปได้อีกแล้ว เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของเมืองเชียงรายไม่อำนวย เจ้ำเม็งรายจึงย้ายออกไปสร้างเมืองไชยปราการเดิมให้กลับฟื้นคืนขึ้นมา แล้วตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “เมืองฝาง” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในกำรขยายอำนาจ และอาณาเขตออกไปยังเมือง หริภุญไชย ซึ่งเป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์เป็นที่หมายปองของเจ้าเมืองต่ำงๆ
ใน พ.ศ. 1835 เจ้ำเม็งราย ก็สำมารถเข้ายึดครองเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ได้ ทรงประทับอยู่เมือง หริภุญไชยไม่นาน ก็ไปสร้างเมืองกุมกาม (อำเภอสารภีในปัจจุบัน) ขึ้นมาใหม่ ต่อมาก็ได้ขยับไปสร้างเมืองที่ บนริมฝั่งแม่น้ำปิง ให้ชื่อเมืองใหม่ว่า “เวียงนพบุรีพิงค์เชียงใหม่” หรือเรียกกันต่อมาว่า“เชียงใหม่” ในปัจจุบัน
เจ้ำเม็งรายทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้รวบรวมเอาเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือตอนบนทั้งหมดมาอยู่ในปกครองได้ ทรงเป็นผู้ก่อตั้งอำณำจักรล้านนาขึ้น และทำนุบำรุงอาณาจักรล้านนาจนรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีกษัตริย์สืบสันติวงศ์ปกครองสืบต่อกันเรื่อยมา พระองค์ได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นมหาราชวงศ์หนึ่ง ทำให้อำณำจักรล้านนาได้รุ่งเรืองมาจนถึง พ.ศ. 2101


 

จุดที่ 10  สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย

          สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายเป็นหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานอัยการภาค 5 เปิดทำการเมื่อ พ.ศ.2477 โดยมีหลวงอรรถเวทีโกญจนวรรณ เป็นอัยการจังหวัดคนแรก เดิมมีที่ทำการอยู่ในศาลากลางจังหวัดเชียงราย ต่อมาได้มีการจัดสร้างที่ทำการแห่งใหม่บริเวณที่ราชพัสดุตรงข้ามกับศาลจังหวัดเชียงราย โดยเปิดทำการครั้งแรกในวันที่ 1 เดือนมีนาคม พ.ศ.2537 ลักษณะอาคารเป็นเป็นอาคาร 2 ชั้น บนเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ 510/1 ถนนรัตนาเขต อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดเชียงราย

          เดิมใช้ชื่อว่า “สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน” มีชื่อย่อว่า สคช. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ ในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ตามคำสั่งของกรมอัยการที่ ๑๗๔/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง
เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ผลประโยชน์และให้ความช่วยเหลือประชาชน ทางด้านกฎหมาย

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดเชียงรายได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๗ ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย เลขที่ ๕๑๐/๑ ถนนรัตนาเขต ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย


 

จุดที่ 11  ศาลจังหวัดเชียงราย

ศาลจังหวัดเชียงรายเดิมเรียกว่า “ศาลเมืองเชียงราย” จะตั้งขึ้นเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน จากหลักฐานทางราชการที่พบว่ามีการใช้ ชื่อ ศาลเมืองเชียงราย ที่เก่าแก่ที่สุด คือ หนังสือราชการ ฉบับลงวันที่ 9 กันยายน ร.ศ. 126 เป็นหนังสือที่่ผู้พิพากษาเมืองเชียงราย เทียบเท่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในปัจจุบันมีไปถึงพระภักดีณรงค์ข้าหลวงประจำบริเวณพายัพเหนือและต่อจากนั้นก็พบคำว่า “ศาลจังหวัดเชียงราย” ในหนังสือราชการต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อาคารที่ทำการ

อาคารที่ทำการศาลเดิมเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2456 เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงมีระเบียง 2 ด้าน หลังคามุงกระเบื้อง มีห้องพิจารณาคดีมาตรฐานเพียง 1 ห้อง ได้ดัดแปลงปีกทางด้านซ้ายและด้านขวาของศาลมาเป็นห้องพิจารณาคดีขนาดเล็กอีก 2 ห้อง ส่วนห้องธุรการได้ดัดแปลงจากห้องใหญ่ โดยใช้ตู้เก็บเอกสารและสำนวนมากั้นตรงกึ่งกลางห้องพิจารณา ใช้ทำเป็นห้องธุรการมีห้องผู้พิพากษา 1 ห้อง จ่าศาล 1 ห้อง บ้านพักผู้พิพากษาเมืองเชียงราย เป็นบ้านเรือนไม้ 2 ชั้น หลังจากอาคารดังกล่าวเปิดทำการมาเป็นเวลา 55 ปี มีสภาพชำรุดทรุดโทรมและคับแคบลงมาก ไม่เหมาะสมที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ในปี พ.ศ.2511 กระทรวงยุติธรรมได้จัดสรรเงินงบประมาณจัดสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้น ในบริเวณศาลเดิมใช้งบประมาณทั้งหมด 2,515,135 บาท เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2511 วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยนายบรรจบ เสาวรรณ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2512 ต่อมาในปีงบประมาณ 2531 กระทรวงยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 1,598,029 บาท ปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างอาคาร ปรับปรุงระบบประปาและสุขาภิบาลและซ่อมแซมบ้านพักผู้พิพากษา 4 หลัง ต่อมาในปีงบประมาณ 2539 กระทรวงยุติธรรมได้จัดสรรเงินงบประมาณ จำนวน 42 ล้านบาท เพื่อต่อเติมอาคารศาลจังหวัดเชียงราย โดยต่อเติมด้านหลังของอาคารศาลเป็นแนวขนาน และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2539 แล้วเสร็จ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยตึกหน้าเป็นอาคารตึก 2 ชั้น หลังคาทรงไทย มีมุขด้านหลังเป็นทางเชื่อมไปสู่อาคาร 2 ด้านหลัง บริเวณชั้นสองเป็นห้องพิจารณาคดี ห้องพักผู้พิพากษาเดิมใช้เป็นห้องศูนย์หน้าบัลลังก์ชั้นล่าง ปีกอาคาร ด้านทิศตะวันออกเป็นห้องทำงานผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดเชียงรายและห้องทำงานธุรการศาล ปีกอาคารด้านทิศตะวัน ตกเป็นห้องธุรการ ชั้นลอยเป็นห้องเก็บสำนวนคดีดำ ส่วนตึกหลังเป็นอาคารตึก 3 ชั้น หลังคาทรงไทย ชั้นล่างใช้เป็นห้องเก็บสำนวนคดีแดง ห้องศูนย์วิทยุเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาล ห้องเวรรักษาการณ์และห้องขัง ชั้นสองเป็นห้องพิจารณาคดีขนาดใหญ่ ชั้นสามเป็นห้องทำงานผู้พิพากษาหัวหน้าศาลห้องทำงานผู้พิพากษารองหัวหน้าศาล ห้องทำงานผู้พิพากษา ห้องสมุด และห้องประชุม ปิดทำการอาคารหลังเก่า เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565

ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 1133 ถนนไกรสรสิทธิ์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000 เปิดทำการเมื่อ 1 มีนาคม 2565 เป็นอาคารสูง 14 ชั้น ประกอบด้วยห้องพิจารณาคดี 14 บัลลังก์ และห้องไกล่เกลี่ย 5 ห้อง


 

จุดที่ 12  หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงราย

ตั้งอยู่บนถนนบรรพปราการ ออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และก่อสร้างโดยเทศบาลนครเชียงรายในปี พ.ศ. 2549 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเชียงราย หอนาฬิกาแสดงเวลาปัจจุบัน และมีการแสดงแสง สี เสียง ที่ตื่นตาประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้ชม จัดแสดงวันละ 3 รอบ ในเวลา 19.00 น., 20.00 น. และ 21.00 น. เสาไฟฟ้าบริเวณหอนาฬิกาทุกต้นได้รับการตกแต่งให้สวยงามเข้ากับตัวหอนาฬิกา

เสาไฟ 12 นักษัตร

          “ชุธาตุ” ความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดของล้านนา “ชุธาตุ” (ออกเสียงว่า จุ๊ธาตุ) เป็นคำเรียกอันแสดงถึงความเชื่อเรื่องการบูชาพระธาตุเจดีย์องค์สำคัญในวัฒนธรรมล้านนา โดยเป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและการให้ความหมายต่อองค์พระบรมธาตุสำคัญอย่างเป็นระบบด้วยจำนวน 12 องค์ ควบคู่กับปีนักษัตรในล้านนา โดยชาวล้านนาจะมีความเชื่อว่า “ดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิดจะสถิตกับพระธาตุ         ที่ต่างกันไปตามที่ “ตั๋วเปิ้ง”(สัตว์ประจำนักษัตร) พาไปพักเพื่อรอการถือกำเนิดขึ้น” ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ชาวล้านนามีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตน ดังนั้นเพื่อความเป็นสิริมงคลนำมาซึ่งความสงบและความเจริญรุ่งเรืองแก่บ้านเมือง เทศบาลนครเชียงราย โดยนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย จึงจัดสร้างเสาไฟประติมากรรม 12 นักษัตรขึ้นเพื่อประดับเมือง เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะความเป็นล้านนาโบราณกับเสาไฟที่เป็นเทคโนโลยีในปัจจุบันจะพบเห็นได้ตามถนนในเมือง โดยเสาไฟประติมากรรมนั้นจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและมีฝีมือเป็นอย่างมาก เนื่องจากศิลปะไทยโบราณนั้นมีรายละเอียดเยอะ มีความประณีตสูง


 

จุดที่ 13 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม

โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม (ชื่อย่อ: ส.ว.ค.) ชื่อเดิม โรงเรียนประจำจังหวัดเชียงรายสามัคคีวิทยาคม เป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ประเภทสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงราย สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เชียงราย โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมก่อตั้งขึ้นโดยพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ศุข ดิษยบุตร) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2451 ตรงกับปีที่ 41  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นสถานศึกษาของรัฐซึ่งตั้งขึ้นเป็นอันดับที่ 15 ของประเทศไทย อันดับที่ 4 ของภาคเหนือ และอันดับที่ 1 ของจังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2451  เปิดทำการสอนครั้งแรกทางราชการได้จัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงรายขึ้นที่ เชิงดอยวัดงำเมือง ชื่อว่า “โรงเรียนประจำจังหวัดเชียงราย สามัคคีวิทยาคม” เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษา

พ.ศ. 2536  เป็นปีแรกที่โรงเรียนเปิดรับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 170คน ทำให้โรงเรียนสามัคคี          วิทยาคมเป็นสหศึกษาทั้งมัธยมศึกษาตอนต้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ประจำเขตการศึกษา 8

พ.ศ. 2542  โรงเรียนเปิดสอน มัธยมศึกษาตอนต้น และ มัธยมศึกษาตอนปลาย ตามแผนการจัด ชั้นเรียน 12-12-12/15-17-15 ได้ริเริ่มโครงการหลักสูตรพิเศษภาคภาษาอังกฤษโดยได้รับอนุญาตหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 27เมษายน2542จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2544  โรงเรียนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้เป็นโรงเรียนแกนนำการใช้หลักสูตรดีเด่นโรงเรียนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณให้เป็นโรงเรียนแกนนำปฏิรูปการศึกษาดีเด่น จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2545  โรงเรียนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณให้เป็นสถานศึกษาดีเด่น ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาและได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์ศิลปะข.

พ.ศ. 2547  โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนวิถีพุทธดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2547 โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

พ.ศ. 2548 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนประชาธิปไตย ตัวอย่างประจำ ปีการศึกษา 2548 โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารแห่งใหม่ พระราชทานชื่อว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ”

ปัจจุบัน จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา รูปแบบสหศึกษา และเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษและสถานศึกษายังคงจัดและส่งเสริมการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไป และมีวิวัฒนาการโดยไม่ขาดสาย


 

จุดที่ 14 วัดมิ่งเมือง

          วัดมิ่งเมือง หรือ วัดช้างมูบ เดิมมีชื่อเรียกตามที่ปรากฏบนแผ่นจารึกอักษรพม่าว่า “วัดตะละแม่ศรี” ซึ่งเป็นชื่อของผู้สร้างวัด มีนามว่า เจ้านางตะละแม่ศรี เป็นมเหสีของพญามังราย มหากษัตริย์แห่งแคว้นล้านนา ผู้สร้างเมืองเชียงราย ซึ่งเจ้านางตะละแม่ศรี ทรงมีพระนามหนึ่งที่ปรากฏในแผ่นจารึก คือ มหาเทวีอุษาปายะโค เป็นธิดาของพระเจ้าพายุเจ็ง กษัตริย์พม่าเจ้าเมืองพะโค (หงสาวดี) ซึ่งได้มอบถวายให้เป็นข้าบาทบริจาริกา แด่พญาเม็งรายเมื่อทรงชนะสงครามจากพม่า และวัดแห่งนี้ยังเป็นวัดพระจำพระองค์ของพระนางอั๊วะมิ่งจอมเมือง วีรสตรีของชาวไทลลื้อที่ได้ปลอดตัวเป็นชายออกสู้รบจนได้ชัยชนะ และเป็นพระราชชนนีของพญาเม็งราย โดยจะเสด็จมาทรงปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ โดยพระนางจะเสด็จมาประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาที่วัดปีละ ครั้งหรือสองครั้งในคืนวันเพ็ญวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง ประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา ทรงจุดผางพระทีปบูชาพระเจดีย์ศรีมิ่งเมืองในวัด ปัจจุบันเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระนางเทพคำกล๋ายและพระอัฐิของมหาเทวีอุษาปายะโค

          ชื่อมาของวัดช้างมูบ (วัดช้างหมอบ) เป็นชื่อที่ชาวเชียงรายรียก และทางวัดก็ใช้รูปช้างมูบเป็นสัญลักษณ์ของวัดมิ่งเมือง ด้วยครั้งที่พระเจ้าสามฝั่งแกนได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงรายไปเชียงใหม่ โดยอัญเชิญพระแก้วมรกตตั้งขบวนจากวัดพระแก้วเชียงราย มาประดิษฐานบนหลังช้างทรง ซึ่งหมอบรออยู่หน้าวัดมิ่งเมือง แล้วเคลื่อนขบวนออกจากประตูเมืองที่ติดกับวัดไปเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดช้างมูบ ตั้งแต่นั้นมา

          ปัจจุบันเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำบุญตักบาตรเที่ยงคืนในวันพระขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ ที่เรียกว่า พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ดวัดมิ่งเมืองยังมีชื่อเรียกว่า วัดช้างมูบ(วัดช้างหมอบ) มีหลังคาพระอุโบสถเป็นรูปซุ้มโขงประดับด้วยรูปปั้นของช้างทรงเครื่องหมอบอยู่  บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่องค์หนึ่ง มีลักษณะแปลกตรงที่ทาสีดำทั้งองค์และมีริ้วสีทองเหมือนห่มจีวรบาง ๆ มีชื่อเรียกว่า หลวงพ่อองค์ดำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพนับถือ


 

จุดที่ 15 โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

            โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์หรือที่ชาวเชียงรายนิยมเรียกว่า โฮงยาไทย และที่มีคำว่าประชานุเคราะห์ต่อท้ายเนื่องจากได้รับการสนับสนุนในการจัดสร้างจากประชาชน ซึ่งประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จากกลุ่มบุคคลซึ่งเรียกว่า คณะราษฎร์ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีนโยบายสร้างโรงพยาบาลหัวเมือง โดยประกาศ พรบ. สาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2477 ในสมัยของพระยาพหลพยุหเสนา ซึ่งเป็นรัฐบาลหัวหน้าคณะราษฎร์ในขณะนั้น เพื่อแสดงเกียรติภูมิของชาติให้ปรากฏแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกตามนโยบาย อวดธง ในปี พ.ศ. 2479 คุณพระพนมนครารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย ซึ่งประชาชนในจังหวัดเชียงรายนำโดยคหบดี คุณพ่อสีห์ศักดิ์ และคุณแม่กิมเฮียะ โตไพบูลย์ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 19 ไร่ รวมทั้งประชาชนซึ่งมีที่ดินข้างเคียงร่วมบริจาคให้เป็นจำนวนพอสมควร และได้ขอความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับเงินสนับสนุนเงินบริจาคจากประชาชน ในจังหวัดเชียงราย ด้วยความร่วมมือของท่านขุนวิศิษฐิ อุดรการ ท่านขุนสุวรรณรัตนราช คลังจังหวัด ตลอดจนบรรดาคหบดี โรงสีทุกแห่ง ภายใต้การนำของท่านมุ่ย เตวิทย์และคุณนายจากเชียงราย รวมทั้งคุณหลวงพิศิษฐ์ ไกรกร คุณหลวงศรีนครานุกูล เจ้าแม่ไหวจากพะเยา ก็ได้ให้การสนับสนุนด้วย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 (วันศุกร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปี ฉลู) มีแพทย์ 1 คน คือ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งท่านได้พัฒนาและสร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้กับโรงพยาบาลอย่างไม่สามารถหาผู้ใดเปรียบได้ ในช่วงแรกโรงพยาบาลได้รับการอนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 50 เตียง และได้เพิ่มจำนวนเตียงตามลำดับ กระทั่งปี พ.ศ. 2531 ได้รับการอนุมัติเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 600 เตียง และปัจจุบันมีจำนวน 773 เตียง มีเนื้อที่ 73 ไร่ 2.6 ตารางวา จำนวน 13 แปลง

 


 

จุดที่ 16  เชียงรายไนท์บาซาร์

เป็นตลาดนัดยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงราย ตั้งอยู่บริเวณสถานีขนส่งเก่า หากนักท่องเที่ยวต้องการซื้อหาสินค้าพื้นบ้าน สินค้าทำมือ งานหัตถกรรมสวยๆ และของฝากจากเชียงราย ต้องไม่พลาดที่จะมาเดินเลือกซื้อหาจากที่นี่ ภายในบริเวณไนท์บาซาร์ยังมีเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบล้านนา

            โดยการแสดงจะมีอยู่ 2 เวทีด้วยกันคือ เวทีสำหรับการแสดงของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นการแสดงฟ้อนรำและแสดงดนตรีสะล้อ ซอ ซึง และเวทีที่ตั้งอยู่บริเวณลานเบียร์ เป็นเวทีการแสดงคาบาเร่โชว์ ร้องเพลง และการแสดงของชาวเขา โดยการแสดงเหล่านี้จะสลับวันแสดง และแน่นอนว่าไนท์บาซาร์นั้นมีบริการร้านอาหารอร่อยๆ หลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น อาหารพื้นเมือง อาหารไทย อาหารฝรั่ง อาหารทะเล ให้นักท่องเที่ยวที่มาเดินไนท์บาซาร์ได้เลือกรับประทานกันตามความพอใจ

 


 

จุดที่ 17  โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

 

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ ก่อตั้งขึ้นโดย “พระยาราชเดชดำรง” (ผล ศรุตานนท์) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายคนที่ 11 (พ.ศ. 2460 – 2479) และราษฎรได้ดำเนินการให้แยกมาตั้ง ณ ที่ตั้งในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคุ้มเจ้าหลวงเชียงราย พระยารัตนาณาเขต (เจ้าหลวงน้อยเมืองไชย) ที่ถนนอุตรกิจ เมื่อ พ.ศ. 2476 ตรงรงกับปีที่แปดในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอายุแปดทศวรรษใน พ.ศ. 2556 ปัจจุบันมีอายุครบ 85 ปี โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา รูปแบบสหศึกษา โดยเป็นสถานศึกษาของรัฐที่ตั้งขึ้นเป็นอันดับที่ 27 ของประเทศไทย อันดับที่ 10 ของภาคเหนือ และอันดับที่ 2 ของจังหวัดเชียงราย เป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ประเภทสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงราย มีสถานะเป็นนิติบุคคลติบุคคลมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ แต่เดิมเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดหญิงมีชื่อว่า “บำรุงกุมารี”

อาณาบริเวณ

โรงเรียนมีเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ 2 งาน 49.4 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 10 หลัง เป็นห้องเรียนทั้งหมด 72 ห้อง และห้องปฏิบัติการทางวิชาการ 37 ห้อง มี 12 อาคารหลัก

วิสัยทัศน์

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์เป็นผู้นำการพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพเทียบเคียงมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นคนดีสู่วิถีพลโลก ในศตวรรษที่ 21 บนพื้นฐานความเป็นไทยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ

 


 

จุดที่ 18  สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ นครเชียงราย

สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุ ครบ 75 พรรษา โดยเทศบาลนครเชียงรายได้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดเป็นสถานที่แสดงนิทรรศการชนเผ่า สถานที่อนุรักษ์ตุงและโคมที่มีเอกลักษณ์ล้านนา นอกจากนี้ยังเป็นสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ จัดงานประเพณี และงานดอกไม้งาม และมีการจัดถนนคนเดินทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 17.00 – 24.00 น.

เดิมพื้นที่บริเวณนี้ เป็นพื้นที่เรือนจำที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านการค้า มีอายุมากกว่า 100 ปี ต่อมามีโครงการให้ย้ายเรือนจำนี้ออกไปเนื่องจาก การที่มีคุกตั้งอยู่กลางเมือง จะบดบังทัศนียภาพและขวางการเจริญเติบโตของเมืองเชียงราย จนได้มีการปรับพื้นที่จนกลายเป็นสวนสาธารณะ หรือสาวนตุง ให้คนทั่วไปได้เข้ามาเดินเล่น ออกกำลังกาย  นอกจากนั้นมีอาคารบางส่วน ที่เป็นเรือนจำหญิง เป็นอาคารไม้ 3 ชั้น ถูกปรับให้เป็น “อาคารแสดงศิลปะการแต่งกายชนเผ่า 30 ชนเผ่า” ด้านข้างอาคารมีตุงเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สูง 36 เมตร กรอบตุงมีลวดลายสัญลักษณ์ปีนักษัตร ใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองล้านนาร่วมสมัย

ภายในอาคารศิลปะการแต่งกายชนเผ่า 30 ชนเผ่า อาทิ ลื้อเชียงรุ้ง มูเซอดำ ฮ่อ ไตยอง ลาวอินโดจีน อาข่า ลั๊วะ จีนฯ  เป็นอาคารไม้ 3 ชั้น จัดแสดงหุ่นที่มีขนาดเท่าคนจริง นอกจากนั้นมีการรวบรวมตุงหลายขนาด หลายแบบสี ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น ผ้าทอ กระดาษสา โลหะทองคำ ทองเหลือง ฯลฯ ข้าวของเครื่องใช้ดั้งเดิม และโคมล้านนาในรูปแบบต่าง ๆ ให้ชมด้วย เปิด-ปิด 08.30 – 16.30 น. ติดต่อที่สำนักงานการศึกษา เทศบาลนครเชียงราย 053 711333

 

 


 

X
This site is registered on wpml.org as a development site.